ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
(Property, Plant, and Equipment)

Updated on 5 สิงหาคม 2559

         ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ (Property, plant and equipment) คือ สินทรัพย์ที่มีตัวตนที่กิจการมีไว้เพื่อประโยชน์ในการผลิต เพื่อใช้ในการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ เพื่อให้เช่า หรือใช้ในการบริหารงาน โดยกิจการคาดว่าจะใช้ประโยชน์มากกว่าหนึ่งรอบระยะเวลารายงาน

      1. เกริ่นนำ (Introduction)

         รายการ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ บางครั้งก็มีผู้เรียกว่าสินทรัพย์ถาวร (fixed asset) รายการ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ประกอบด้วย ที่ดิน อาคาร (ส่วนปรับปรุงที่ดิน ส่วนปรับปรุงอาคาร อาคารสำนักงาน อาคารโรงงาน อาคารโกดังสินค้า) อุปกรณ์ (เครื่องจักร เครื่องตกแต่งและตัดตั้ง อุปกรณ์สำนักงานและยานพาหนะ) สินทรัพย์ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง (construction in progress) และรวมถึง พืชเพื่อการให้ผลิตผลสำหรับกิจการแบบเกษตรกรรม
         รายการชิ้นส่วนอะไหล่ อุปกรณ์ที่สำรองไว้ใช้งาน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อมบำรุงจะถูกรับรู้รายการเป็นที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ หากกิจการคาดว่าจะใช้ประโยชน์มากกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี แต่ถ้าหากกิจการคาดว่าจะใช้งานได้น้อยกว่าหนึี่งรอบระยะเวลาบัญชีจะถือเป็นสินค้าคงเหลือ สำนักงานบัญชี เอส.พี.ดี.
         กิจการอาจได้มาซึ่งรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยหรือสภาพแวดล้อม การได้มาซึ่งที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ดังกล่าว แม้จะไม่ได้เป็ นการเพิ่มประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตโดยตรงให้กับที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ใดๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันของกิจการแต่อาจเป็นสินทรัพย์ที่กิจการจาเป็ นต้องมีเพื่อให้ กิจการสามารถได้ รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากสินทรัพย์อื่นของกิจการได้ ดังนั้น การได้มาซึ่งรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ดังกล่าวจึงเข้าเงื่อนไขการรับรู้รายการเป็นสินทรัพย์เพราะทา ให้กิจการได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากสินทรัพย์อื่นที่เกี่ยวข้องมากกว่ากรณีที่กิจการไม่มีสินทรัพย์ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตเคมีภัณฑ์อาจติดตั้งเครื่องควบคุมระบบการผลิตสารเคมีใหม่เพื่อให้เป็ นไปตามข้อกาหนดด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมในการผลิตและการเก็บรักษาสารเคมีที่เป็นอันตรายดังนั้นกิจการจึงรับรู้รายการที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งอุปกรณ์เข้ากับโรงงานครั้งนี้เป็นสินทรัพย์ เนื่องจากกิจการไม่สามารถผลิตและขายเคมีภัณฑ์ได้โดยปราศจากอุปกรณ์ดังกล่าว
         ลักษณะสำคัญของที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ประกอบด้วย:สำนักงานบัญชี เอส.พี.ดี.
         (1) รายการที่ได้มาเพื่อดำเนินกิจการและไม่ได้ถือครองไว้เพื่อขาย สินทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนินกิจการเท่านั้นที่จะจัดประเภทเป็นรายการ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ยกตัวอย่างเช่น อาคารว่างที่กิจการถือครองไว้โดยยังไม่ได้ทำอะไรมักจะจัดประเภทเป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ที่ดินในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บันทึกแยกออกเป็นสินค้าคงเหลือ เป็นต้น
         (2) รายการที่สามารถให้ประโยชน์ระยะยาวและมักเสื่อมสภาพ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ปกติแล้วให้ประโยชน์ใช้งานได้หลายปี และจะทยอยปันส่วนต้นทุนของการลงทุนในที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ในอนาคตในรูปของค่าเสื่อมราคา ซึ่งยกเว้นที่ดิน เพราะถือเป็นสินทรัพย์ที่มีอายุการใช้ประโยชน์ไม่จำกัด นอกเสียจากว่าที่ดินใช้ในการดำเนินงานให้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่ได้รับลดลง ตัวอย่างเช่น การสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินในการทำเกษตรกรรมเนื่องจากการเพาะปลูกพืชชนิดเดียว
         (3) รายการที่สามารถครอบครองทางกายภาพ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (tangible assets) มีลักษณะความมีอยู่จริงทางกายภาพ

      2. การวัดมูลค่าเมื่อเริ่มรับรู้รายการ (Measurement at recognition)

         กิจการต้องรับรู้ต้นทุนของรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เป็นสินทรัพย์ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไข 2 ข้อต่อไปนี้ (1) มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากรายการนั้น และ (2) กิจการสามารถวัดมูลค่าต้นทุนของรายการนั้นได้อย่างน่าเชื่อถือ

          เมื่อรายการเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อแล้วกิจการต้องวัดมูลค่าของรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์เป็นสินทรัพย์โดยใช้ราคาทุน (historical cost หรือแปลว่า ราคาทุนเดืม) ซึ่งหมายถึง จำนวนเงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสดที่กิจการจ่ายไป หรือมูลค่ายุติธรรมของสิ่งตอบแทนอื่นที่กิจการมอบให้เพื่อให้ได้มาซึ่งสินทรัพย์ ณ วันที่ได้สินทรัพย์นั้นมา หรือ ณ เวลาที่ก่อสร้างสินทรัพย์นั้น ราคาทุนประกอบด้วย 3 องค์ประกอบดังนี้

          (1) ราคาซื้อรวมอากรขาเข้าและภาษีซื้อที่เรียกคืนไม่ได้หลังหักส่วนลดการค้าและจำนวนที่ได้รับคืนจากผู้ขาย

          (2) ต้นทุนทางตรงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาสินทรัพย์เพื่อให้สินทรัพย์นั้นอยู่ในสถานที่และสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ตามความประสงค์ของฝ่ายบริหาร ได้แก่
          - ต้นทุนผลประโยชน์ของพนักงานที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการก่อสร้างหรือการได้มาซึ่งรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
          - ต้นทุนการเตรียมสถานที่
          - ต้นทุนการขนส่งเริ่มแรกและการเก็บรักษา
          - ต้นทุนการติดตั้งและการประกอบ
          - ต้นทุนในการทดสอบว่าสินทรัพย์นั้นสามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ หลังหักมูลค่าสิ่งตอบแทนสุทธิที่ได้รับจากการขายรายการต่างๆ ที่ผลิตได้ในช่วงการเตรียมความพร้อมของสินทรัพย์เพื่อให้อยู่ในสถานที่และสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ ตัวอย่างเช่น สินค้าตัวอย่างที่ผลิตขึ้นในช่วงการทดสอบเครื่องจักร
          - ค่าธรรมเนียมวิชาชีพ

          (3) ต้นทุนที่ประมาณในเบื้องต้นสำหรับการรื้อ การขนย้าย และการบูรณะสถานที่ตั้งของสินทรัพย์ ซึ่งเป็นภาระผู้พันของกิจการที่เกิดขึ้นเมื่อกิจการได้สินทรัพย์นั้นมาหรือเป็นผลจากการใช้สินทรัพย์นั้นในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ที่มิใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการผลิตสินค้าคงเหลือในระหว่างรอบระยะเวลานั้น

          ต้นทุนที่ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งในราคาทุนของรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ได้แก่
          - ต้นทุนที่เกิดขึ้นในการเปิดสถานประกอบการใหม่
          - ต้นทุนในการแนะนำสินค้าเหรือบริการใหม่ รวมถึงต้นทุนในการโฆษณาและการส่งเสริมการขาย
          - ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจในสถานที่ตั้งใหม่หรือกับลูกค้ากลุ่มใหม่ รวมทั้งต้นทุนในการฝึกอบรมพนักงาน
          - ต้นทุนในการบริหารและค่าใช้จ่ายทั่วไป
          - ต้นทุนที่เกิดขึ้นหลังสิ้นสุดเมื่อสินทรัพย์อยู่ในสถานที่และสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ตามความประสงค์ของฝ่ายบริหาร ดังนั้น ต้นทุนที่เกิดตึ้นจากการใช้ประโยชน์หรือการนำสินทรัพย์มาใช้สำหรับวัตถุประสงค์ที่แตกต่่างจากเดิมจึงไม่รวมเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าสินทรัพย์ ตัวอย่างที่ไม่ถือเป็นมูลค่าสิทรัพย์ได้แก่ ต้นทุนที่เกิดขึ้นในขณะที่สินทรัพย์อยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ตามความประสงค์ของฝ่ายบริหาร แต่ยังไม่ได้นำสินทรัพย์มาใช้หรือนำสินทรัพย์มาใช้ในการดำเนินงานในระดับที่ยังไม่เต็มกำลังการผลิต ผลขาดทุนจากการดำเนินงานเริ่มแรก เช่น ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นระหว่างการสร้างความต้องการในผลผลิตจากสินทรัพย์ดังกล่าว และต้นทุนในการย้ายสถานที่หรือจัดโครงสร้างการดำเนินงานบางส่วนหรือทั้งหมดของกิจการ เป็นต้น สำนักงานบญชี ทุ่งสง

ต้นทุนที่ดิน (Cost of Land)

          ต้นทุนของที่ดิน ประกอบด้วย ราคาจ่ายซื้อที่กิจการได้จ่ายซื้อที่ดินแปลงนั้น รวมถึงรายจ่ายที่ผู้ซื้อจ่ายไป เช่น ค่านายหน้า ค่าโอนกรรมสิทธิ์ ค่ารังวัดที่ดิน จำนวนเงินที่จ่ายให้กับผู้เช่าเดิมที่ยังอยู่ในที่ดินนั้นกรณีที่สัญญาเช่ายังไม่หมดอายุ ค่าภาษีที่ดินที่เจ้าของเดิ่มยังไม่ได้จ่ายชำระ ค่าปรับปรุงที่ดินซึ่งจะให้ประโยชน์ตลอดไปโดยไม่จำกัดระยะเวลา เช่น ค่าถมดิน ค่ารื้อถอนและค่าขนย้ายอาคารเก่าที่ติดมากับที่ดินซึ่งได้หักค่าขายซากอาการเก่าแล้ว เป็นต้น

ต้นทุนส่วนปรับปรุงที่ดิน (Cost of Land Improvments)

          ส่วนปรับปรุงที่ดิน เป็นรายจ่ายส่วนต่อเติมที่ต้องบันทึกแยกออกมาจากบัญชีที่ดิน เนื่องจากมีอายุการใช้ประโยชน์จำกัด ตัวอย่างเช่น ค่าทำถนน ค่าทำทางเดิน ค่าทำรั่ว ค่าทำท่อระบายน้ำ และค่าทำลานจอดรถ เป็นต้น ต้นทุนของส่วนปรับปรุงที่ดินจะถูกคิดค่าเสื่อมตามอายุการใช้ประโยชน์ที่ประมาณการไว้

          กิจการอาจดำเนินการบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างหรือการพัฒนารายการที่ดินและอาคาร แต่ไม่จำเป็นต่อการทำให้สินทรัพย์ดังกล่าวอยู่ในสถานที่และสภาพที่พร้อมจะให้งานได้ตามความประสงค์ของฝ่ายบริหาร การดำเนินการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นก่อนหรือระหว่างกิจกรรมการก่อสร้างหรือการพัฒนานั้น ตัวอย่างเช่น กิจการอาจมีรายได้จากการให้เช่าสถานที่ที่จะใช้ก่อสร้างอาคารในอนาคตเป็นที่จอดรถจนกว่าการก่อสร้างจะเริ่มต้นขึ้น ทั้งนี้การจัดให้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่เช่าจอดรถไม่ใช่กิจกรรมที่จำเป้นต่อการทำให้สินทรัพย์อยู่ในสถานที่และสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ตามความประสงค์ของฝ่ายบริหาร ดังนั้น กิจการจึงรับรู็รายได้และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องจากการดำเนินงานที่ไม่ใช่กิจกรรมหลักในงบกำไรหรือขาดทุน และรวมถึงการจัดประเภทรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องตามลำดับ

ต้นทุนอาคาร(Cost of Building)

          ต้นทุนของอาคารรวมรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงเพื่อให้ได้มาซึ่งอาคารหรือจากการก่อสร้าง ต้นทุนดังกล่าวประกอบด้วย (1)วัตถุดิบทางตรง แรงงานทางตรงและโสหุ้ยการผลิต (overhead costs) ที่เกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง และ (2) ค่าวิชาชีพและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขออนุญาตสร้างอาคาร ซึ่งโดยปกติกิจการมักติดต่อผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อว่าจ้างก่อสร้างอาคารให้ ต้นทุนอาคารจะประกอบด้วยค่ารับเหมาก่อสร้างที่ตกลงกันตามสัญญาซึ่งเรียกเก็บจากผู้รับเหมาก่อสร้าง

     ตัวอย่างที่ 1 บริษัท ท่าศาลา จำกัด ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งมาเพื่อสร้างโรงงานในราคา 300,000 บาท บริษัทได้จ่ายค่ารื้อถอนอาคารไม้หลังเก่าที่อยู่บนที่ดินแห่งนั้น 40,000 บาท โดยสามารถขายมูลค่าคงเหลืออาคารดังกล่าวได้เงิน 10,000 บาท ต่อมาบริษัทจ่ายค่าออกแบบเป็นเงิน 50,000 บาท ค่าตรวจสอบโฉนดที่ดิน 2,000 บาท ดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้างอาคาร 16,000 บาท และค่าสร้างอาคาร 600,000 บาท นอกจากนี้บริษัทยังต้องจ่ายค่าถมที่อีก 5,000 บาท ต้นทุนของที่ดินและต้นทุนอาคารเท่ากับเท่าใด

          ต้นทุนของที่ดิน = 300,000 + 40,000 - 10,000 + 2,000 + 5,000

          ต้นทุนของที่ดิน = 337,000

          ต้นทุนของอาคาร = 600,000 + 50,000 + 16,000

          ต้นทุนของอาคาร = 666,000

ต้นทุนอุปกรณ์(Cost of Equipments)

          คำว่า อุปกรณ์ (equipment) ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินนั้นรวมถึง อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องจักรโรงงาน เครื่องตกแต่ง อุปกรณ์โรงาน เป็นต้น ต้นทุนของอุปกรณ์ประกอบด้วย ราคาซื้อ ค่าขนส่ง ค่าประกันภัยในการขนส่งที่กิจการเป็นผู้จ่ายชำระ ค่าภาษีนำเข้า ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ ต้นทุนการดำเนินการทดสอบเครื่องจักร (trual run) หักด้วยยอดขายสินค้าตัวอย่างที่ได้จากการทดสอบระบบเครื่องจักร

ต้นทุนพืชเพื่อการให้ผลิตผล(Cost of Bearer Plant)

          พืชเพื่อการให้ผลิตผล (Bearer Plant) คือ พืชที่มีชีวิตซึ่งใช้ในกระบวนการผลิตหรือเพื่อจัดหาซึ่งผลิตผลทางการเกษตร โดยคาดว่าจะให้ผลิตผลมากกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาและมีความเป็นไปได้ที่ยากยิ่งที่จะขายเป็นผลิตผลทางการเกษตร เว้นแต่เป็นการขายเศษซากที่เป็นผลพลอยได้

          รายการต่อไปนี้ไม่ถือเป็นพืชเพื่อการให้ผลิตผล ได้แก่
          - พืชที่ปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวเป็นผลิตผลทางการเกษตร ตัวอย่างเช่น ต้นไม่ที่ปลูกเพื่อทำไม้แปรรูป
          - พีชที่ปลูกเพื่อผลิตเลิตผลทางการเกษตรที่อย่างน้อยมีความเป็นไปได้มากกว่าความเป็นไปได้ที่ยากยิ่งว่ากิจการจะเก็บเกี่ยวและขายพีชนั้นเป็นผลิตผลทางการเกษตร มากกว่าจะขายเป็นเศษซากที่เป็นผลพลอยได้ ตัวอย่างเช่น ต้นไม่ที่ปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวทั่งผลไม้และทำไม้แปรรูป
          - พืชล้มลุก ตัวอย่างเช่น ข้าวโพด และข้าวเจ้า เป็นต้น

          พืชเพื่อการให้ผลิตผลที่ไม่สามารถให้ผลิตผลได้อีกต่อไปอาจถูกโค่นลงและขายเป็นเศษซาก ตัวอย่างเช่น เพื่อใช้เป็นฟืน การขายเศษซากที่เผ็นผลพลอยได้ดังกล่าวไมได้ห้ามการที่พืชนั้นจะเป็นไปตามคำนิยามของพืชเพื่อการให้ผลิตผล

          พืชเพื่อการให้ผลิตผลให้ใช้วิธ๊ปฏิบัติทางการบัญชีเช่นเดียวกับรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณืที่กิจการสร้างขึ้นเองก่อนที่รายการดังกล่าวจะอยู่ในสถานที่และสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ตามความประสงค์ของฝ่ายบริหาร ซึ่งครอบคลุมถึงการเพาะปลูกและดูแลพืชเพื่อการให้ผลิตผลก่อนที่พืชเพื่อการให้ผลิตผลจะอยู่ในสถานที่และสภาพที่พร้อมจะใช้งานได้ตามความประสงค์ของฝ่ายบริหาร

      3. การวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้รายการ (Measurement after recognition)

         กิจการต้องเลือกใช้นโยบายบัญชีโดยใช้วิธีราคาทุน (the cost method) หรือ วิธีการตีราคาใหม่ (the revaluation method) ทั้งนี้กิจการต้องใช้นโยบายบัญชีเกียวกันสำหรับรายการ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ทุกรายการที่จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน

      3.1 วิธีการตีราคาใหม่ (Revaluation Method)

         หลังจากวันที่กิจการรับรู้รายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ด้วยราคาทุนแล้วกิจการสามารถเลือกวิธีการวัดมูลค่าของสินทรัพย์ที่มีตัวตนได้ 2 วิธีคือ วิธีกราคาทุน และวิธีการตีราคาใหม่ ซึ่งในส่วนนี้จะอธิบายเกี่ยวกับวิธีการตีราคาใหม่

         วิธีการตีราคาใหม่กิจการต้องแสดงรายการด้วยมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่มีการตีราคาใหม่หักด้วยค่าเสือมราคาสะสม และผลขาดทุนจากการด้อยค่าสะสมที่เกิดขึ้นในภายหลัง กิจการต้องตีราคาสินทรัพย์ใหม่อย่างสม่ำเสมอ เพือให้แน่ใจว่ามูลค่าตามบัญชีจะไม่แตกต่างจากมูลค่ายุติธรรม ณ วันสินรอบระยะเวลารายงานอย่างมีสาระสำคัญ

         หากการตีราคาสินทรัพย์ทำให้มูค่าตามบัญชีของสินทรัพย์นั้นเพิ่มขึ้น กิจการต้องรับรู้มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นจากการตีราคาใหม่ไปยังกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นและรับรู้จำนวนสะสมไปยังส่วนของเจ้าของในบัญชี "ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์" อย่างไรก็ตาม กิจการต้องรับรู้ส่วนเพิ่มจากการตีราคาใหม่นี้ในกำไรหรือขาดทุนไม่เกินจำนวนที่ตีราคาสินทรัพยืดังกล่าวลดลงในอดีตและเคยรับรู้ในกำไรหรือขาดทุน

         หากการตีราคารสินทรัพย์ใหม่ทำให้มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์นั้นลดลง กิจการต้องรับรู้มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ที่ลดลงจากการตีราคาใหม่ในกำไรหรือขาดทุนทันที อย่างไรก็ตามกิจการต้องนำส่วนที่ลดลงจากการตีราคาใหม่ไปรับรู้ในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นในจำนวนที่ไม่เกินยอดคงเหลือด้านเครดิตที่มีอยู่ในบัญชี "ส่วนเกินทุนจากการตีราราสินทรัพย์" ของสินทรัพย์รายการเดียวกันนั้น โดยการรับรู้ส่วนที่ลดลงในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นจะมีผลทำให้บัญชี "ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์" ที่สะสมอยู่ในส่วนจองเจ้าของลดลงตามไปด้วย

      การตีราคาใหม่รายการที่ดิน (สินทรัพย์ที่ไม่ได้คิดค่าเสื่อมราคา)

         บริษัท ทุ่งสง จำกัด ซื้อที่ดิน ในวันที่ 1 มกราคม 25X1 ด้วยราคา 4,000,000 บาท บริษัทเลือกวัดมูลค่าที่ดิน ด้วยมูลค่ายุติธรรมภายหลังวันที่ได้รับรู้รายการในงบการเงิน ในวันที่ 31 ธันวาคม 25X1 ที่ดินดังกล่าวมีราคายุติธรรม 5,200,000 บาท กิจการต้องบัญชีราคาที่ดินตามวิธีตีราคาใหม่ ดังนี้

เดบิต    ที่ดิน 1,200,000
       เครดิต    ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ 1,200,000
(31 ธันวาคม 25X1 บันทึกการรับรู้การเพิ่มขึ้นของมูลค่าที่ดิน)

          ตอนนี้ที่ดินแสดงในรายงานการเงินที่ราคายุติธรรม 5,200,000 บาท ส่วนที่เพิ่มขึ้นของมูลค่ายุติธรรม 1,200,000 บาท แสดงในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ในส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์โดยนำยอดสะสมไปแสดงรวมกับส่วนของเจ้าของในงบแสดงฐานการเงิน

          ต่อมาในปี 31 ธันวาคม 25X2 มูลค่ายุติธรรมของที่ดินมีค่าเท่ากับ 3,800,000 บาท บริษัท ทุ่งสง จำกัด ต้องบันทึกส่วนลดลงจากราคายติธรรมที่ลดลง 1,400,000 บาท โดยการเดบิต ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ 1,200,000 บาท และผลขาดทุนจากราคาจากการตีราคาสินทรัพย์ 200,000 บาท เพื่อคำนวณลดกำไรสุทธิและกำไรสะสม ดังนี้

เดบิต    ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ 1,200,000
เดบิต    ขาดทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ 200,000
       เครดิต    ที่ดิน 1,400,000
(31 ธันวาคม 25X2 บันทึกการรับรู้การลดลงของมูลค่าที่ดิน)

          ณ วันที่ 31 ธันวาคม 25X3 ที่ดินมีมูบค่ายุติธรรมเพิ่มขึ้นเป็น 4,150,000 บาท มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้นจากเดิม 350,000 บาท บริษัทต้องกลับรายการผลขาดทุนจากการจากการตีราคาสินทรัพย์ 200,000 บาท เป็นกำไรขาดทุนจากการตีราคาสินทรัพย์เพื่อคำนวณกำไรสุทธิ พร้อมบันทึกบัญชี ส่วนเกินมูลค่าจากการตีราคาสินทรัพย์อีก 150,000 บาท ดังนี้

เดบิต    ที่ดิน 350,000
       เครดิต    กำไรจากการตีราคาสินทรัพย์ 200,000
        เครดิต    ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ 150,000
(31 ธันวาคม 25X3 บันทึกการรับรู้การเพิ่มขึ้นของมูลค่าที่ดิน)

          ต่อมาในวันที่ 2 มกราคม 25X4 บริษัทขายที่ดินดังกล่าว 4,150,000 บาท บริษัทต้องบันทึกรายการดังต่อไปนี้

เดบิต    เงินสด/เงินฝากธนาคาร 4,150,000
       เครดิต    ที่ดิน 4,150,000
(2 มกราคม 25X4 บันทึกขายที่ดิน )

          กิจการโอนส่วนเกินทุนจากการตีราคารายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ที่รวมอยู่ในส่วนของเจ้าของไปยังกำไรสะสมโดยตรงเมื่อกิจการจำหน่ายหรือเลิกใช้สินทรัพย์โดยไม่ผ่านกำไรหรือขาดทุน บริษัท ทุ่งสง จำกัดจึงต้องบันทึกโอนรายการส่วนเกินทุนจากการตีราคาที่ดนที่ขายไปยังบัญชีกำไรสะสมดังนี้

เดบิต    ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ 150,000
       เครดิต    กำไรสะสม 150,000
(2 มกราคม 25X4 บันทึกการโอนปิดส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์จากการขายที่ดิน )

      การตีราคาใหม่รายการสินทรัพย์ที่คิดค่าเสื่อมราคา

         บริษัท ทุ่งสง จำกัด ซื้อเครื่องจักรเป็นเงิน 1,000,000 บาท เมื่อวันที่ 2 มกราคม 25X1 เครื่องจักรมีอายุการให้ประโยชน์ 5 ปี บริษัทฯ มีนโยบายการคิดค่าเสื่อมราคาด้วยวิธีเส้นต้น (straight-line method) โดยมีการประเมินมูลค่าคงเหลือของเครื่องจักรเป็นศูนย์

         บริษัท ทุ่งสง จำกัด เลือกที่จะใช้วิธีตีราคาใหม่ในการวัดมูลค่าเครื่องจักรตลอดอายุการใช้งานเครื่องจักร บริษัท ทุ่งสง จำกัด บันทึกค่าเสื่อมราคาสำหรับปี 25X1 ดังนี้

เดบิต    ค่าเสื่อมราคา 200,000
       เครดิต    ค่าเสื่อมราคาสะสม 200,000
(31 ธันวาคม 25X1 บันทึกค่าเสื่อมราคา )

          ราคาตามบัญชีของเครื่องจักรมีค่าเท่ากับ 800,000 บาท (1,000,000 - 200,000) บริษัท ทุ่งสง จำกัด ได้ว่าจ้างผู้ประเมินอิสระช่วยระบุมูลค่ายุติธรรมของเครื่องจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 25X1 มูลค่า 950,000 บาท เพื่อที่จะแสดงมูลค่าเครื่องจักรด้วยมูลค่ายุติธรรม บริษัทฯต้องลดค่าเสื่อมราคาสะสมเครืองจักรให้เป็นศูนย์ ลดมูลค่าบัญชีเครื่องจักรลง 50,000 บาท เพื่อให้บัญชีเครื่องจักรแสดงในราคายุติธรรม 950,000 บาท และบันทึกผลกำไรที่ยังไม่ได้เกิดจึ้นจากการตีราคาใหม่จากผลต่างระหว่างมูลค่ายุติธรรมกับมูลค่าตามบัญชีของเครื่องจักร 150,000 บาท รายการปรับปรุงที่ต้องบันทึกเพิ่มเติม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 25X1 คือ

เดบิต    ค่าเสื่อมราคาสะสม 200,000
       เครดิต    เครื่องจักร 50,000
       เครดิต    ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ 150,000
(31 ธันวาคม 25X1 บันทึกปรับปรุงมูลค่าสินทรัพย์ตามมูลค่ายุติธรรม )

          รายการปรับปรุงข้างต้นทำให้มูลค่าตามบัญชีของเครื่องจักรเท่ากับ 950,000 บาท ค่าเสื่อมราคา 200,000 บาท แสดงในงบกำไรขาดทุน ส่วนบัญชีส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ แสดงในกำไรขาดทุนบัดเสร็จอื่น จำนวน 150,000 บาท

          ในปี 25X2 กิจการประเมินอายุการใช้ประโยชน์ของเครื่องจักรใหม่อีกครั้งพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรในปี 25X2 เท่ากับ 237,500 บาท (950,000 ÷ 4) และบันทึกค่าเสื่อมราคาสำหรับปี 25X2 ดังนี้

เดบิต    ค่าเสื่อมราคา 237,500
       เครดิต    ค่าเสื่อมราคาสะสม 237,500
(31 ธันวาคม 25X2 บันทึกค่าเสื่อมราคาสำหรับปี 25X2 )

          ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 (ปรับปรุง 2559) ระบุว่ากิจการอาจโอนส่วนเกินทุนจากการตีราคารายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ที่แสดงอยู่ในส่วนของเจ้าของไปยังกำไรสะสมโดยตรงเมื่อกิจการตัดรายการสินทรัพยืนั้น โดยโอนส่วนเกินทุนทั้งหมดจากการตีราคาสินทรัพย์ดังกล่าวไปยังกำไรสะสมเมื่อกิจการจำหน่ายหรือเลิกใช้สินทรัพย์ อย่างไรก็ตามในระหว่างที่กิจการใช้งานสินทรัพย์ดังกล่าว กิจการอาจทยอยโอนส่วนเกินทุนบางส่วนไปยังกำไรสะสม ในกรณีนี้จำนวนของส่วนเกินทุนที่โอนไปยังกำไรสะสมจะเท่ากับผลต่างระหว่างค่าเสื่อมราคาที่คำนวณจากมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ที่ตีราคาใหม่กับค่าเสื่อมราคาที่คำนวณจากราคาทุนเดิมของสินทรัพย์ั้น การโอนส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ไปยังกำไรสะสมไม่ทำผ่านกำไรหรือขาดทุน

         โปรดติดตามตอนต่อไป ...

อ้างอิง

         – คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี. (2559). มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 (ปรับปรุง 2558) เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์. กรุงเทพมหานคร: สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมถ์.

         – Kieso, Weygandt & Warfield. Intermediate Accounting IFRS Edition volumn 1. 1th Edition, John Wiley & Sons, Inc. 2011